หมอออนไลน์: เยื่อบุมดลูกต่างที่/เอ็นโดเมทริโอซิส (Endometriosis)เยื่อบุที่อยู่บนผิวในโพรงมดลูก เรียกว่า เยื่อบุมดลูก (endometrium)
เยื่อนี้จะงอกหนาและมีเลือดคั่ง แล้วสลายตัวเป็นเลือดประจำเดือนทุก ๆ เดือน ในผู้หญิงบางคนอาจมีเศษเยื่อบุมดลูกบางส่วนไปงอกผิดที่หรือต่างที่ เช่น ไปอยู่ในผนังกล้ามเนื้อมดลูก หรืออยู่ในรังไข่ หรือที่พบได้น้อยอาจไปงอกที่ท่อรังไข่ ช่องคลอด สำไส้ หรือตรงแผลเป็นหลังผ่าตัด เรียกว่า เยื่อบุมดลูกต่างที่ (เยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่ก็เรียก)
โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้หญิง อายุระหว่าง 25-44 ปี และพบมากในผู้หญิงที่ไม่มีบุตร ซึ่งพบได้ประมาณ 3-4 เท่าของผู้หญิงที่มีบุตร
ส่วนมากจะไม่มีอันตรายร้ายแรง ส่วนน้อยอาจรุนแรงจนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ภาวะนี้มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีบุตรยาก
สาเหตุ
ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกการเกิดโรคที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากมีเยื่อบุมดลูกที่ปนอยู่ในเลือดประจำเดือนไหลย้อนผ่านท่อรังไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ตามที่ต่าง ๆ ภายในช่องท้อง โดยที่กลไกภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยบกพร่อง ไม่สามารถขจัดเนื้อเยื่อพวกนี้
บ้างก็สันนิษฐานว่าเซลล์ของเยื่อบุภายในช่องท้อง (coelomic epithelium) เกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เหมือนเยื่อบุผิวมดลูก
นอกจากนี้ พบว่าผู้หญิงที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้มีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าผู้หญิงทั่วไป เชื่อว่าโรคนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
ทุก ๆ เดือนเศษเยื่อบุมดลูกที่งอกผิดปกติเหล่านี้จะมีเลือดออกเช่นเดียวกับส่วนที่อยู่ในโพรงมดลูก แต่เนื่องจากมันฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ เลือดจึงคั่งอยู่ภายในและทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของเนื้อเยื่อโดยรอบ
ในกรณีที่เป็นเยื่อบุมดลูกงอกที่เยื่อหุ้มรังไข่ มักจะกลายเป็นถุงน้ำหรือซิสต์ (cyst) ขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มที่มีเลือดคั่งอยู่ข้างใน นาน ๆ เข้าเลือดกลายเป็นสีดำเข้มคล้ายช็อกโกแลต จึงเรียกว่า ถุงน้ำช็อกโกแลต (chocolate cyst หรือ endometrioma) ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้องได้
อาการ
ผู้ป่วยอาจแสดงอาการในลักษณะต่าง ๆ ขึ้นกับตำแหน่ง ความรุนแรง และพยาธิสภาพของโรค
บางรายอาจไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จนผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกต และตรวจพบโดยแพทย์โดยบังเอิญ
กลุ่มที่มีอาการชัดเจน มักมีอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อย มีก้อนที่ท้องน้อย ประจำเดือนผิดปกติและ/หรือมีบุตรยาก
อาการที่พบบ่อย คือ อาการปวดประจำเดือน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังมีประจำเดือนครั้งแรกหลายปี หรือหลังอายุ 25 ปี โดยทุกรอบเดือนจะเริ่มปวดตั้งแต่ 2-3 วันก่อนมีประจำเดือน (ระดู) ปวดมากทุกวันในช่วงที่มีประจำเดือน และทุเลาหลังประจำเดือนหมด ซึ่งมีลักษณะอาการปวดที่ท้องน้อยและหลัง บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หน้าขาและทวารหนัก อาการปวดประจำเดือนจะรุนแรงขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป บางรายอาจปวดรุนแรงจนมีอาการเป็นลม หรือต้องหยุดงาน
บางรายอาจมีอาการปวดในอุ้งเชิงกราน (ท้องน้อยตรงบริเวณเหนือหัวหน่าว) ที่ไม่ตรงกับช่วงที่มีประจำเดือนก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากมีการอักเสบของเยื่อบุมดลูกที่งอกต่างที่ หรือเกิดจากมีพังผืดเกาะทำให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานถูกดึงรั้งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
บางรายอาจมีอาการปวดเฉียบขณะร่วมเพศ เนื่องจากมีเยื่อบุมดลูกงอกอยู่ใกล้บริเวณช่องคลอด มักจะมีอาการปวดลึก ๆ ในอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสอดอวัยวะเพศชายเข้าไปลึก บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หลังและทวารหนัก และอาการปวดมักรุนแรงขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนเล็กน้อย
ในรายที่มีเยื่อบุมดลูกงอกที่ลำไส้ใหญ่ อาจมีอาการปวดเบ่งขณะถ่ายอุจจาระหรือท้องเดิน บางรายอาจถ่ายอุจจาระเป็นเลือดขณะมีประจำเดือน (ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้)
บางรายอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดก่อนมีประจำเดือน
ในรายที่มีเยื่อบุมดลูกงอกที่กระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อยขณะถ่ายปัสสาวะ หรือขณะมีประจำเดือนอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อย คือ อาจทำให้มีบุตรยาก ซึ่งพบได้มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ (ส่วนผู้หญิงที่มีบุตรยากก็พบว่าเป็นเยื่อบุมดลูกต่างที่ถึงร้อยละ 30-40) ทั้งนี้เนื่องจากโรคนี้มีผลทำให้เกิดการอุดกั้นของท่อนำไข่และการทำลายเชื้ออสุจิที่อยู่ในท่อนำไข่
บางรายอาจมีการบิดเบี้ยวหรืออุดกั้นท่อไตในอุ้งเชิงกราน หรือมีการอุดกั้นของทางเดินอาหาร
ในรายที่เป็นถุงน้ำช็อกโกแลต อาจมีการแตกหรือรั่ว ปล่อยให้เลือดที่ขังอยู่ในถุงน้ำไหลซึมออกมาข้างนอก อาจทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (chemical perionitis) ทำให้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องเกร็งแข็งได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพียงชั่วคราวและทุเลาไปได้เอง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ
ในรายที่เป็นไม่มาก การตรวจร่างกายอาจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน
ในรายที่เป็นมาก อาจคลำได้ก้อนที่อุ้งเชิงกรานหรือตรวจภายในช่องคลอดพบว่ามีก้อนภายในอุ้งเชิงกราน
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจภายในช่องคลอด และทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscopy ซึ่งสามารถตัดชิ้นเนื้อส่งพิสูจน์ได้) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด ยับยั้งไม่ให้โรคลุกลาม และส่งเสริมการมีบุตร โดยมีแนวทางดังนี้
1. ในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อย จะให้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ทรามาดอล เป็นต้น กินเป็นครั้งคราวเวลามีอาการปวด และนัดมาติดตามดูอาการเป็นระยะ
2. ในรายที่มีอาการรุนแรงปานกลาง จะให้ยาฮอร์โมนเพื่อหยุดการเจริญของเยื่อบุมดลูกที่ไปงอกผิดที่
เป็นการยับยั้งไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น (ไม่ได้ช่วยให้หายขาด)
นอกจากนี้แพทย์อาจให้ดานาซอล (danazol) ซึ่งเป็นยากดการทำงานของรังไข่โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง gonadotropin releasing hormone และ/หรือ gonadotropins มีผลทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน ทำให้เยื่อบุมดลูกต่างที่หยุดการเจริญ หรือยากระตุ้น gonadotropin releasing hormone ซึ่งเมื่อใช้นาน ๆ จะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง gonadotropins ทำให้หยุดการเจริญของเยื่อบุมดลูกต่างที่
3. ในรายที่เป็นรุนแรงมาก ใช้ยาฮอร์โมนบำบัดไม่ได้ผล หรือต้องการมีบุตร ก็อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ในรายที่อายุมากและไม่ต้องการมีบุตรแล้ว แพทย์จะผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ทั้ง 2 ข้างออก เมื่อร่างกายขาดเอสโทรเจน เนื่องจากไม่มีรังไข่ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนชนิดนี้ เยื่อบุมดลูกต่างที่ที่อาจหลงเหลืออยู่ก็จะฝ่อลง ผู้ป่วยบางรายที่มีพังผืดมากอาจผ่าตัดเอารังไข่ออกไม่หมด เนื้อเยื่อรังไข่ที่คงเหลือไว้บางส่วนสามารถสร้างเอสโทรเจนออกมากระตุ้นให้เกิดเยื่อบุมดลูกต่างที่ขึ้นมาภายหลังได้อีก
ในรายที่อายุไม่มากหรือยังต้องการมีบุตร แพทย์จะทำการผ่าตัดเฉพาะส่วนที่มีพยาธิสภาพออกให้มากที่สุด เช่น ตัดเอาถุงน้ำออก เลาะพังผืดที่ติดรั้งออก เป็นต้น โดยยังเก็บรักษามดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ไว้เพื่อให้มีบุตรได้ต่อไป การผ่าตัดชนิดนี้อาจทำได้ตามวิธีดั้งเดิม (ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง) หรือผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเข้าช่องท้อง (laparoscopic surgery) หลังผ่าตัดถ้าหากมีเยื่อบุมดลูกต่างที่หลงเหลืออยู่ก็อาจกำเริบได้อีก เนื่องจากร่างกายยังมีรังไข่สร้างเอสโทรเจนออกมากระตุ้นให้เยื่อบุมดลูกเจริญได้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้ยาฮอร์โมนรักษาต่อ
4. ในรายที่ต้องการมีบุตร แพทย์อาจให้การช่วยเหลือ เช่น การผสมเทียม การผ่าตัดแก้ไขพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น ส่วนจะได้ผลมากน้อยเพียงใดขึ้นกับความรุนแรงของโรค
การช่วยให้ตั้งครรภ์มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้อาการกำเริบและลดความรุนแรงลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดประจำเดือนมาก และรุนแรงขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป มีอาการปวดประจำเดือนครั้งแรกหลังอายุ 25 ปี มีอาการปวดท้องมากกว่าปกติขณะถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นประจำ หรือถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือดขณะมีประจำเดือน หรือมีประวัติมีบุตรยาก เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเยื่อบุมดลูกต่างที่ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ควรหาทางป้องกันไม่ให้โรคกลายเป็นรุนแรงด้วยการดูแลรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ข้อแนะนำ
1. ผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงเป็นประจำ หรือเริ่มปวดครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีบุตรยาก) นอกจากนี้ก็ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เนื้องอกมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
2. อาการปวดท้องน้อยรุนแรง นอกจากเยื่อบุมดลูกต่างที่แล้ว ยังอาจเกิดจากถุงน้ำรังไข่ ไส้ติ่งอักเสบ นิ่วท่อไต ปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน ครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น (ตรวจอาการ ปวดท้องน้อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ประกอบ)