หมอประจำบ้าน: ตาเหลือง (Yellow Eyes)ตาเหลือง (Yellow Eyes) เป็นอาการที่ตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเนื่องจากร่างกายมีสารบิลิรูบิน (Bilirubin) สูงเกินไป โดยตาเหลืองเป็นหนึ่งในอาการภาวะดีซ่าน (Jaundice) อย่างไรก็ตาม อาการตาเหลืองอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ยาบางชนิดหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับ หรือโรคมะเร็ง
อาการตาเหลืองมักเกิดร่วมกับอาการตัวเหลือง ตาเหลืองมักไม่ส่งผลต่อการมองเห็น แต่มักเป็นสัญญาณของอวัยวะบางอย่างกำลังทำงานผิดปกติ เช่น ตับ ถุงน้ำดีและตับอ่อน โดยอาการนี้สามารถส่งผลทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หากเกิดอาการตาเหลืองขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตามสาเหตุของตาเหลืองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โลหิตจาง ตับและไตวาย
อาการของตาเหลือง
อาการของตาเหลืองที่สามารถเห็นได้ชัด คือ บริเวณตาขาวมีสีเหลือง ทั้งนี้ ตาเหลืองอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการของปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสาเหตุของอาการตาเหลือง โดยอาการอาจมีดังนี้
สีผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
ปวดท้อง
คันผิวหนัง
มีไข้ หนาวสั่นและอ่อนเพลีย
คลื่นไส้ หรือเบื่ออาหาร
มีอาการบวมน้ำหรือบวมบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
อุจจาระมีสีซีดหรือปัสสาวะมีสีเข้ม
น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เด็กทารกที่มีภาวะดีซ่านอาจมีอาการตาเหลืองร่วมกับอาการต่าง ๆ เช่น ตัวเหลือง กินอาหารได้น้อยลงและง่วงซึมมากขึ้น ในกรณีที่เด็กทารกมีปริมาณสารบิลิรูบินในร่างกายสะสมสูงเกินไป อาจมีอาการอันตรายเพิ่มเติม เช่น ชัก การสูญเสียการได้ยิน สมองผิดปกติ (Kernicterus)
สาเหตุของตาเหลือง
ตาเหลืองอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการมีระดับของสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ในเลือดมีมากเกินไป ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ตับ ถุงน้ำดีหรือตับอ่อนทำงานผิดปกติ ทำให้สารชนิดนี้สะสมในร่างกายและก่อให้เกิดอาการตาเหลืองตามมา
โดยสาเหตุของอาการตาเหลืองอาจมีดังนี้
การทำงานของตับผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานของตับ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นเวลานาน ภาวะเหล็กเกิน โรคตับแข็ง โรคไขมันพอกตับ โรคตับอักเสบ และมะเร็งตับ
การทำงานของตับอ่อนผิดปกติ โดยโรคที่อาจส่งผลต่อการทำงานของตับอ่อนและทำให้เกิดตาเหลือง ตัวเหลือง เช่น โรคตับอ่อนอักเสบและมะเร็งตับอ่อน
ท่อน้ำดีอุดกั้น มักเกิดขึ้นเนื่องจากโรคต่าง ๆ เช่น เนื้องอกและนิ่วในถุงน้ำดี นอกจากนี้อาจมีโรคอื่นที่อาจส่งผลต่อการทำงานของถุงน้ำดี เช่น ถุงน้ำดีอักเสบและมะเร็งถุงน้ำดี
โรคเลือด โรคเลือดบางชนิดอาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวเร็วกว่าปกติหรือแตกสลายง่ายกว่าปกติ ทำให้สารบิลิรูบินเพิ่มสูงขึ้นและอาจทำให้เกิดตาเหลืองได้ เช่น ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกและโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อจากยุง โดยเชื้อจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงและอาจก่อให้เกิดอาการตาเหลือง ตัวเหลืองตามมา
โรคฉี่หนูเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านการสัมผัสสัตว์หรือน้ำที่มีเชื้อ ทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง มีไข้ ไอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว ม้ามหรือตับโต
การใช้ยาบางชนิด การใช้ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะดีซ่าน รวมไปถึงอาการตาเหลือง เช่น การใช้ยาอะเซตามิโนเฟนในปริมาณมาก ยาเพนิซิลลิน ยาคุมกำเนิด ยาคลอร์โปรมาซีน และยาสเตียรอยด์
การวินิจฉัยตาเหลือง
แพทย์อาจวินิจฉัยตาเหลืองผ่านการสังเกตจากดวงตาและผิวหนัง เพราะตาเหลืองและตัวเหลืองเป็นอาการที่สามารถบ่งบอกถึงภาวะดีซ่านได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ แพทย์อาจหาสาเหตุของการเกิดภาวะดีซ่าน โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการทดสอบต่าง ๆ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูระดับสารบิลิรูบินในเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดหรือตรวจการทำงานของตับ
ทั้งนี้ แพทย์อาจทำการวินิจฉัยโดยภาพ เช่น การทำอัลตราซาวด์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจดูการอุดกั้นที่ท่อน้ำดี หากมีการอุดกั้นเกิดขึ้น อาจตรวจโดยวิธีการส่องกล้องตรวจทางเดินท่อน้ำดีและตับอ่อน (ERCP) เพิ่มเติม เพื่อหาตรวจสาเหตุของการอุดกั้นในท่อน้ำดี
การรักษาตาเหลือง
ตาเหลืองเป็นอาการที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพในอวัยวะอื่น ๆ ดังนั้น การรักษาสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการตาเหลืองอาจทำให้อาการตาเหลืองดีขึ้น เช่น หากสาเหตุของตาเหลืองเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์อาจแนะนำให้กินยาหรือผ่าตัดเพื่อนำนิ่วออก หากสาเหตุเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ แพทย์อาจแนะนำให้หยุดดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรับการรักษาต่อไป
นอกจากนี้ หากมีอาการตาเหลืองจากโรคที่เกี่ยวกับตับ แพทย์อาจแนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและกินอาหารที่ช่วยบำรุงตับ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว และโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น อกไก่ ปลา หรือกรีกโยเกิร์ต เมื่อตับเริ่มมีอาการดีขึ้น อาจช่วยบรรเทาอาการตาเหลืองหรือภาวะดีซ่านได้
ภาวะแทรกซ้อนของตาเหลือง
ภาวะแทรกซ้อนอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการตาเหลือง โดยตัวอย่างของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจพบได้ในผู้ที่มีอาการตาเหลืองจากภาวะดีซ่าน เช่น เลือดออกตามผิวหนัง โลหิตจาง โรคสมองจากโรคตับ ตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ตับวาย ไตวายและเสียชีวิต ดังนั้น หากมีอาการตาเหลือง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากตาเหลืองหรือภาวะดีซ่าน
การป้องกันตาเหลือง
การป้องกันอาการตาเหลืองหรือภาวะดีซ่านในเด็กทารกอาจทำได้โดยการให้เด็กกินนมแม่อย่างน้อยวันละ 8–12 ครั้งต่อวัน เนื่องจากนมแม่มีคุณสมบัติเป็นยาระบาย ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กทารกสามารถระบายสารบิลิรูบินส่วนเกินผ่านทางอุจจาระได้ นอกจากนี้
สำหรับการป้องกันอาการตาเหลืองในผู้ใหญ่อาจทำได้หลายวิธี โดยส่วนใหญ่เป็นการป้องกันสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะดีซ่าน ตัวอย่างวิธีการป้องกันอาการตาเหลือง เช่น
ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี รักษาความสะอาดของร่างกาย ใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
กินยาในปริมาณที่แพทย์สั่งเพื่อป้องกันการกินยาเกินขนาดและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อตับ
ลดน้ำหนักหรือรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง
หลีกเลี่ยงการกินสมุนไพรหรืออาหารเสริมบางชนิด เพราะสมุนไพรหรืออาหารเสริมบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดภาวะดีซ่านได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มกินสมุนไพรหรืออาหารเสริมใด ๆ เพื่อป้องกันภาวะดีซ่าน