Mitsubishi Triton 2024: บุกโรงงาน Mitsubishi เยี่ยมชมสายการผลิต “All-new Triton”บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าเต็มศักยภาพในฐานะผู้นำด้านการผลิตและส่งออกรถยนต์ของประเทศไทย ทุ่มงบลงทุนระลอกใหม่ที่ล้ำสมัย เปิดสายการผลิตใหม่เพื่อสรรค์สร้าง ออล-นิว มิตซูบิชิ ไทรทัน ที่โรงงานแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี รองรับการส่งออก และจำหน่ายทั่วโลก ในบทความนี้ออโต้สปินน์ได้มีโอกาสเยี่ยมชมสายการผลิต ออล-นิว มิตซูบิชิ ไทรทัน รวมถึงโรงงานประกอบเครื่องยนต์รุ่นใหม่ 4N16
ออล-นิว มิตซูบิชิ ไทรทัน เป็นยนตรกรรมที่เปี่ยมด้วยความประณีต ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและหุ่นยนต์อัจฉริยะควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ด้วยความละเอียดแม่นยำขั้นสูงสุดที่ฝีมือมนุษย์เข้าไม่ถึง ตั้งแต่ในขั้นการผลิตเครื่องยนต์ใหม่ 2.4 ลิตร ไฮเปอร์ พาวเวอร์ ไปจนถึงการพ่นสี และเชื่อมประกอบตัวถังรถยนต์ โดยมีสัดส่วนกระบวนการอัตโนมัติถึงร้อยละ 95 จากการใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะมากกว่า 250 ตัว ทำหน้าที่ในจุดที่มีความเสี่ยง หรือต้องการความประณีตแม่นยำสูงในระดับที่มากกว่าสายตาของมนุษย์จะมองเห็นได้
รวมไปถึงในตำแหน่งอื่นๆ อีกหลากหลาย อาทิ หุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่ยกวัตถุน้ำหนักได้มากถึง 900 กิโลกรัม หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายชิ้นงาน แขนกลความยืดหยุ่นสูงที่สามารถหยิบจับชิ้นงานได้อย่างคล่องแคล่ว และรวดเร็ว หุ่นยนต์พร้อมระบบตรวจสอบหัวเชื่อมอัตโนมัติ กล้องตรวจคุณภาพแนวซีลตะเข็บแบบอัตโนมัติ อุปกรณ์ขันยึดแบบไฟฟ้าที่มีความแม่นยำสูง ระบบบันทึกข้อมูลการตรวจสอบแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบ Camera Scanning QC ทำหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพโดยละเอียดทุกจุด
เวลา 1 ชั่วโมง สามารถผลิตเครื่องยนต์ได้ 48 เครื่อง
ปัจจุบันกำลังการผลิตเครื่องยนต์ 1 ชั่วโมง สามารถผลิตเครื่องยนต์ได้ 48 เครื่อง (และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเป็น 63 เครื่อง ต่อ 1 ชม. ) โดยเครื่องยนต์ 1 เครื่อง ใช้เวลาผลิต 4 ชม. มีขั้นตอนทั้งหมด 110 กระบวนการ เมื่อนับรวมทั้งปี จะผลิตเครื่องยนต์ได้ประมาณ 400,000 เครื่อง ในขณะที่การผลิตรถยนต์จะอยู่ที่ประมาณ 300,000 คันต่อปี และมียอดส่งออกประมาณ 80% ของการผลิต
เคล็ดลับความทนทาน และเทคโนโลยีสุดล้ำในการประกอบเครื่องยนต์ 4N16
เครื่องยนต์ 4N16 2.4 ลิตร Hyper Power มีโซ่สายพาน และตัว Balancer ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ทนทานถึง 4 แสน กม. (โดยปกติของรถทั่วไป โซ่สายพานจะมีอายุการใช้งาน 1 แสน กม.)
ในขั้นตอนการประกอบ จุด Cold Test มีการทดสอบการทำงานของเครื่องยนต์ และแสดงค่าการทำงานของเครื่องยนต์ บนหน้าจอ (ระบบ Digital) โดยไม่ต้องจุดระเบิดจริง
ในอนาคต (ปีหน้า) ระบบ AI QC จะมีการเรียนรู้เก็บข้อมูลเพิ่มได้ทุกวัน เพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และความปราณีต
ความใส่ใจ ความปราณีตของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีความละเอียดชนิดที่ว่า กาว (วัตถุดิบ) ที่ใช้ในการประกอบเครื่องยนต์ ถ้าติดช่วงวันหยุด หรือหยุดการผลิต กาวที่เหลือค้างจะนำไปทิ้ง ไม่เอามาใช้ต่อ
เทคโนโลยีอัตโนมัติรุ่นใหม่ ที่ใช้ในสายการผลิตใหม่ของ ออล-นิว มิตซูบิชิ ไทรทัน นอกจากเพื่อยกระดับในการทำงาน เพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานแล้ว ยังสร้างมาตรฐานใหม่ในการควบคุมคุณภาพ ทั้งยังเสริมประสิทธิภาพการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานใหม่ของ ออล-นิว ไทรทัน จากโรงงานแหลมฉบัง ได้มากขึ้นเช่นกัน